พระราชกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐

1. ด้านการทหารและการบิน

          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการทหาร มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นอกจากทรงรับการศึกษาทางด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงพระราชวิริยอุตสาหะในการเพิ่มพูนความรู้และพระประสบการณ์ด้านการทหารอยู่ตลอดเวลา

โดยหลังสิ้นสุดการศึกษาด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม ๒๕๑๙ และทรงศึกษางานทางการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนกระทรวงกลาโหม ทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีรบนอกแบบ หลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวนและต้นหนชั้นสูง หลักสูตรส่งทางอากาศ และยังทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรต่าง ๆ ทางด้านการบินอีกมากมาย ทำให้พระองค์ทรงมีพระประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการบินในระดับสูงมาก

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงรับราชการทหารมาโดยตลอด อาทิ

        – ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘ ทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารประจำกรมข่าวทหารบก กระทรวงกลาโหม

        – ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑ ทรงดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์

        – ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๓ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพัน ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์

        – ๑๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๗ ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

        – ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

        – ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

        – ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๕ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด

        – ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗ ทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบินเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-๕ อี/เอฟ

 ปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงดำรงพระยศทางทหารของ ๓ เหล่าทัพ คือ

  * พระยศ พลเอก ของกองทัพบกไทย

  * พระยศ พลเรือเอก ของกองทัพเรือไทย

  * พระยศ พลอากาศเอก ของกองทัพอากาศไทย

พระราชกรณียกิจด้านการทหารที่รักษาความมั่นคงของประเทศ พระองค์ทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชาที่เขาล้าน จังหวัดตราด

2. ด้านกีฬา

          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์และในส่วนของพระองค์เอง อาทิ การพระราชทานไฟพระฤกษ์กีฬาเยาวชนแห่งชาติ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักกีฬาไทยผู้นำความสำเร็จ นำเกียรติยศ มาสู่ประเทศชาติ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม รับพระราชทานพร และทรงแสดงความชื่นชมยินดีที่นำความสำเร็จ นำเกียรติยศมาสู่ตนเอง สู่วงศ์ตระกูล และประเทศชาติ

           พระราชกรณียกิจด้านการกีฬาอื่น ๆ อาทิ เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑ ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีเปิดกีฬาเอเชียนเกมส์ ทำให้นักกีฬามีขวัญและกำลังใจในการแข่งขัน ประสบชัยชนะนำเหรียญรางวัลมาสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

           นอกจากนี้ พระองค์ทรงเป็นประธานในกิจกรรม Bike for Mom ปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๓ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ โดยวัตถุประสงค์นอกจากจะให้ประชาชนแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แสดงออกถึงความรักที่มีต่อแม่ของตนและแม่ของแผ่นดินแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพในการร่วมออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และปลูกฝังให้ประชาชนรักการออกกำลังกาย รวมถึงเสริมสร้างความมีน้ำใจเป็นนักกีฬาอีกด้วย

อีกทั้งยังมีกิจกรรม Bike For Dad “ปั่นเพื่อพ่อ” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๘ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๘
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงนำขบวนผู้ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ เพื่อแสดงความจงรักภักดี กตัญญูกตเวทีต่อพระมหากษัตริย์ ร่วมเทิดพระคุณพ่อและเพื่อแสดงพลังความสามัคคีของชาวไทยทั้งชาติ

3. ด้านการศึกษา

        สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงตระหนักในคุณค่าและความสําคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีคุณภาพ จึงสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับประชาชนได้เรียนรู้สามารถนํามาใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมถึงสามารถนำความรู้มาพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร ๖ แห่ง ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่

         ๑. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๑ จ.นครพนม

         ๒. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๒ จ.กำแพงเพชร

         ๓. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๓ จ.สุราษฎร์ธานี

         ๔. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๑ จ.อุดรธานี

         ๕. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ จ.สงขลา

         ๖. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๓ จ.ฉะเชิงเทรา

        โดยพระองค์ทรงทราบดีว่าเยาวชนในถิ่นทุรกันดารยังด้อยโอกาสในด้านการศึกษา ซึ่ง ๖ โรงเรียนดังกล่าว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เอง พร้อมพระราชทานคำแนะนำและทรงส่งเสริมให้โรงเรียนดำเนินโครงการอันเป็นประโยชน์แก่นักเรียน อาทิ โครงการอาชีพอิสระ พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาอันทันสมัยต่าง ๆ รวมถึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียน ทรงติดตามผลการศึกษา และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ พระราชธิดาทั้งสองพระองค์ ทรงร่วมกิจกรรมของโรงเรียนอยู่เสมอ

         นอกจากนี้ ยังมีพระราชดําริให้นําพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และทรัพย์จากผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลมาจัดทํา “โครงการทุนการศึกษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๒ และต่อมาทรงมีพระราชดําริให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” หรือ ม.ท.ศ. เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนที่เรียนดี ขยันหมั่นเพียร ประพฤติดี มีคุณธรรม และฐานะยากจน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง โดยสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่กำลังจะจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มีโอกาสศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายไปจนจบปริญญาตรีหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ความสามารถ และความต้องการของผู้เรียนโดยไม่มีภาระผูกพันต้องใช้ทุนคืน เมื่อจบการศึกษาจะเปิดโอกาสให้เข้าทำงานเป็นข้าราชบริพารในพระองค์ฯ ตามความสมัครใจ

         สำหรับพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดทุกปี

4. ด้านศาสนา

          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางศาสนาเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ อาทิ ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายกฐินหลวงตามวัดต่าง ๆ รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานถ้วยรางวัล การทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานระดับประเทศ

          นอกจากนี้ ยังทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๐๙ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และทรงผนวช เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ ซึ่งระหว่างทรงผนวช พระองค์ก็ได้ทรงศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด

          พระราชกรณียกิจด้านพระพุทธศาสนาอื่น ๆ อาทิ เป็นองค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการก่อสร้างพระพุทธรูปเขาชีจรรย์ ณ เขาชีจรรย์ ตำบลจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๕๙ และเพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตลอดจนเป็นสถานที่ดำเนินกิจกรรมทางศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ในการดำเนินการก่อสร้าง

          ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุเพื่ออัญเชิญประดิษฐานในพระอุระของพระพุทธรูปแกะสลัก โดยเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๘ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิชราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศ รัชกาลที่ ๑๐ ในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธี บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนเริ่มโครงการจัดการสร้างพระพุทธรูปเขาชีจรรย์ และวันพุธที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๙ เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงกดปุ่มระเบิดหินแกะสลักลายเส้นพระพุทธรูปเขาชีจรรย์เป็นปฐมฤกษ์

5. ด้านการเกษตรกรรม

          เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชพิธีพืชมงคล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นประจำ รวมทั้งทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านเกษตรกรรมแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาโดยตลอด และทรงติดตามความก้าวหน้าด้านการชลประทาน การสร้างเขื่อนต่าง ๆ โดยพระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทานแก้ปัญหาตามที่ชาวบ้านกราบทูล ทำให้มีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างอุดมสมบูรณ์และช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน

           นอกจากนี้ พระองค์ยังเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนเกษตรกร อาทิ ทรงเป็นประธานในการทำนาสาธิตโดยใช้ปุ๋ยหมัก ณ ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๙ ซึ่งในการนี้ ยังทรงปฏิบัติการสาธิตการทำนาด้วยพระองค์เอง ทรงถอดฉลองพระบาท ถลกพระสนับเพลา ทรงพระดำเนินลุยโคลน หว่านพันธุ์ข้าวปลูกและปุ๋ยหมักในแปลงนาสาธิต โดยมิได้มีกำหนดการไว้ก่อน นำพาความชื่นชม ปลาบปลื้มปีติและซาบซึ้งในพระราชจริยวัตรแก่บรรดาข้าราชการและประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

6. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงตระหนักว่าสุขภาพพลานามัยของประชาชนเป็นปัจจัยและพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข โปรดให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ๒๑ แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร โดยที่พระองค์ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลทุกแห่งและทรงเยี่ยมโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย

           สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ยังทรงเป็นองค์ประธาน ในการจัดสร้าง “มูลนิธิกาญจนบารมี” ศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในมหามงคลวโรกาสเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปีที่ ๕๐ โดยพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการของโครงการกาญจนบารมี ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิกาญจนบารมีขึ้น ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐ มีวัตถุประสงค์ คือ

          ๑. เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยากไร้

          ๒. เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการ ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง โดยเน้นการรักษาผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ

          ๓. เพื่อให้ทุนการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง

          ๔. เพื่อเป็นกองทุนสำหรับการสนับสนุนการดำเนินงาน, กิจกรรมต่าง ๆ, และการพัฒนาบุคลากรของศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งส่วนภูมิภาคที่อยู่ในความรับผิดชอบ

          ๕. เพื่อร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ และเพื่อสาธารณประโยชน์

          ๖. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

7. ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญพระราชไมตรีระหว่างประเทศ โดยเมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีปอย่างเป็นทางการเป็นประจำทุกปี ปีละหลายครั้ง อาทิ เสด็จเยือนประเทศอิตาลี, สาธารณรัฐประชาชนจีน, ญี่ปุ่น, อิหร่าน, เนปาล, ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งในการเสด็จพระราชดำเนินไปทุกครั้ง ทรงเตรียมพระองค์ด้วยการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประเทศที่จะทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนและระหว่างประทับอยู่ในประเทศนั้น ๆ

          ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการทอดพระเนตรและทรงศึกษากิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาประเทศไทย อาทิ ทรงเยี่ยมชมกิจการทหาร อุตสาหกรรม งานศิลปวัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของประชาชนของประเทศนั้น ๆ

          พระองค์ยังทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะแทนพระองค์ อาทิ วันจันทร์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๗.๓๐ น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกแทนพระองค์ทรงรับสมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินีแห่งมาเลเซีย ในโอกาสเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ (State Visit) ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙

          นอกจากนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความยินดีไปยังผู้นำประเทศต่าง ๆ อาทิ มีข้อความพระราชสาส์นแสดงความยินดีไปยังนายฮัสซัน รูฮานี ในโอกาสได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐, มีพระราชสาส์นอำนวยพรในโอกาสวันเอกราชและวันชาติของจอร์เจีย ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐,

           ส่งพระราชสาส์นถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี แห่งกัมพูชา วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐ และมีข้อความพระราชสาส์นแสดงความยินดีไปยังนายเอ็มมานูเอล มาครง ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐

           เมื่อครั้งที่ประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศต่าง ๆ ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ต่าง ๆ รัชกาลที่ ๑๐ ทรงส่งข้อความเสียพระราชหฤทัยไปยังผู้นำประเทศนั้น อาทิ ข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพ
เมียนมา กรณีเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศเมียนมา ตกในทะเลอันดามัน นอกชายฝั่งใกล้เมืองทวาย ภาคตะนาวศรี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐, ข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยัง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน

           กรณีเกิดเหตุก่อการร้ายที่รัฐสภาอิหร่านและสุสานของอายาตุลลอห์ โคมัยนี อดีตผู้นำสูงสุดแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ในกรุงเตหะราน เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐, ข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร กรณีเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ใจกลางกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๐ เป็นต้น

8. ด้านสังคมสงเคราะห์

          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีความห่วงใยต่อผู้ด้อยโอกาส และคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนแออัด พระองค์จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ หลายแห่ง อาทิ ชุมชนแออัดพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องกีฬา เครื่องดับเพลิง พระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน อาทิ

           โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน และโครงการปราบปรามยาเสพติดในหมู่เยาวชนชุมชนแออัดคลองเตย รวมถึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารในบังคับบัญชาของพระองค์ ร่วมกับประชาชนพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้ดีขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ยังมีพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ อาทิ เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนประชาชนในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ

          นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขตลอดมา โดยหลังครองราชย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ข้าราชบริพารในพระองค์ ร่วมกับหน่วยราชการในเขตพื้นที่ และประชาชนจิตอาสา

เก็บขยะมูลฝอยและวัชพืชจากคลอง ท่อระบายน้ำ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมรับมือกับปริมาณน้ำฝนให้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้เร็ว ป้องกันน้ำท่วม ไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง รวมทั้งตัดแต่งกิ่งไม้ริมคลองเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ ส่งผลต่อสุขภาพประชาชนให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาดและดีขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้